หน้าเว็บ

เล่าเรื่องเมืองไหย




        เล่าเรื่องเมืองไหฺย

      เมืองไหฺย (๑) ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองแสนหวีเหนือ มีเมียวซาครองเมืองอยู่ที่เมิงไหฺยว่านเก่า – เมืองไหฺยบ้านเก่า ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองแสนหวีเหนือไปเล็กน้อย ทางทิศตะวันตกติดกับเมืองเกซีหม่านจ๋าม หัวเมืองฉานใต้

ในพ.ศ. ๒๔๔๐ ปรากฏว่ามีหมู่บ้าน ๖๗ หมู่บ้านที่ขึ้นกับเมืองไหย(๑) ครอบคลุมเนื้อที่ ๑๐๐ ตารางไมล์ ชาย ๙๐๓ คน หญิง ๑,๐๘๗ คน เด็กชาย ๔๘๑ คน เด็กหญิง ๕๒๓ คน
ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวไต แต่ก็มีหมู่บ้านชาวยางอยู่หลายแห่ง ชาวเมืองปลูกฝ้ายเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ไม่มีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เมืองไหยจ่ายภาษีปีละ ๒,๕๒๐ รูปี

*********************************

เมืองไหฺย (๒ ) เป็นเมืองหลวงของเมืองแสนวีใต้ ในเมืองไหฺยนั้นมีหมู่บ้านอยู่สองหมู่บ้าน ตั้งอยู่ห่างกันประมาณครึ่งไมล์ หมู่บ้านทางทิศตะวันออกนั้นเป็นเมืองหลวงของเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีใต้ ตามข้อมูลใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ปรากฏว่ามี ๑๒๐ หลังคาเรือน ชาวเมืองเป็นชาวไตทั้งหมด ๕๕๓ คน หมู่บ้านทางทิศตะวันตกนั้นเป็นที่พำนักของเมียวซา มีประชากร ๖๑ หลังคาเรือน หรือ ๒๒๗ คน

แต่ละหมู่บ้านก็มีพงกฺยี กฺยอง หรือวัด หมู่บ้านทางตะวันออก มีวัด ๒๑ แห่งพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๑๙ องค์

เมืองไหฺยที่เป็นเมืองเจ้าฟ้านั้น (เมืองไหฺยแสนหวีใต้) มีพ่อค้า ๑๔ คน วัวต่าง ๑๒๐ ตัว ช่างฝีมือ ๖ คน ช่างเหล็กและช่างไม้อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งสองหมู่บ้าน ประกอบอาชีพอิสระ เพาะปลูกน้อย จึงไม่ค่อยเสียภาษี

สถานการณ์ของเมืองไหฺยไม่ค่อยสงบนัก ถึงแม้ว่าอังกฤษเข้ามาดูแลแล้วก็ตาม ก่อนอังกฤษเข้ามาเมืองไหยถูกเผาทำลายหลายครั้ง ขุนส่างแห่งบ้านต้นฮุง เผาทำลายเมืองไหฺยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และในพ.ศ.๒๔๓๒ ชาวเมืองไหฺยก่อจลาจล ได้เผาทำลายเมืองอีกครั้งหนึ่ง เมืองไหยในปัจจุบันเพิ่งว่างเว้นจากการสงครามมาเมื่อไม่นานนี่เอง

เมื่อกองทัพอังกฤษยกพลเข้าเมืองไหฺยใน พ.ศ. ๒๔๓๑ หมู่บ้านที่อยู่ในความดูแลของเจ้าฟ้าเมืองไหฺยมีประชากรเพียง ๑๕ หลังคาเรือน ส่วนหมู่บ้านของเมียวซานั้นไม่มีผู้คนอาศัย ภูเขามีแต่ป่าทึบแน่น และชายขอบเมืองไหฺยนั้นมีเรือนตั้งอยู่ ๒-๓ หลังเท่านั้น

ปัจจุบันเมืองไหฺยมี ๑๐๐ หมู่บ้าน มีประชากรหลายร้อยหลังคาเรือน มีคลองชลประทานผันน้ำไปยังทุ่งนา ซึ่งขุดขึ้นตามดำริของ อมาตย์ กฺยี คำเสือ แต่ละปีนาข้าวก็ขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ
ระหว่างหมู่บ้านทั้งสองมีตลาดหนึ่งแห่ง ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ไม่มีการเก็บค่าเช่าที่ในตลาดแต่คนของเมียวซาจะเรียกเก็บเป็นสิ่งของแทน

เมืองไหฺยยังมีคูเมือง ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่กักเก็บน้ำ เพราะไม่มีสงครามอีกแล้ว เมืองอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวได้ผลดี และส่งขายต่างเมืองเป็นจำนวนมาก

ถนนสายตะวันตกไปถึงเมืองสีป่อ สายเหนือไปถึงเมืองลาเสี้ยว สายตะวันออกไปถึงน้ำป๋าและเมืองป๋าง มีถนนไปถึงเมืองเชียงตุงผ่านบ้านปั่น และถนนไปเมืองเกซีหม่านจ๋ามผ่านเมืองนาย
มีเจดีย์สามองค์ตั้งอยู่ใกล้ตลาด สถาปัตยกรรมไม่เก่าแก่มากนัก เพราะก่อนหน้านี้เป็นป่ารกร้าง เพิ่งแผ้วถางตั้งบ้านเรือนเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๑ นี่เอง ชาวเมืองเชื่อว่า ผี (ผีฟ้าหรือเทวดา) เหาะลงจากฟากฟ้ามาปิดทองส่วนยอดของเจดีย์องค์หนึ่ง ใกล้กันนั้นมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่และศาลายกพื้นปูนที่เจ้าฟ้าเป็นผู้สร้างขึ้น

ในป่าทางทิศตะวันออกของเมืองนั้นมีหอผีขนาดใหญ่ ล้อมรั้วระแนง ข้างในวางปืน หอก ดาบและอาวุธต่างๆ ที่ทำด้วยไม้สำหรับผี นอกจากนี้ยังนำข้าว ผลไม้และดอกไม้มาเซ่นอยู่เนืองๆ เพื่อไม่ให้ผีรังควาญคนในหมู่บ้าน...

"เเอบเล่าเรื่องหอหลวงเมืองไหฺย"

เมืองไหฺยเป็นเมืองขนาดเล็ก อีกทั้งยังเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นแสนหวีในอดีตอีกด้วย ปัจจุบันเจ้าฟ้าเมืองไหฺยยังคงใช้ชีวิตเสมือนหนึ่งอยู่ในอดีต เพราะว่าท่านมีชายาถึง ๑๒ องค์ หลังจากที่เล่นเทนนิสกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเสร็จแล้ว บราเควเรได้พาผมไปยังหอเมืองไหฺยที่ตั้งอยู่บนเนินเขา

ขณะนี้ความมืดเริ่มปกคลุมไปทั่วแล้วแต่ผมยังสามารถเห็นโครงสร้างของหอเมืองไหฺยได้อย่างชัดเจน หอประกอบไปด้วยหอคอยสูง ๓ หลังตั้งอยู่ภายใต้หลังคาทรงปราสาทสูงชะลูด เจ้าฟ้าเมืองไหยเดินลงมาจากบันได ท่านพูดภาษาพม่าได้เพียงภาษาเดียวเท่านั้น ผมเดินตามเจ้าฟ้าเข้ามาในห้องที่มีเสาอยู่เรียงราย ห้องโถงเชื่อมต่อกับห้องพระและห้องนอนขนาดใหญ่ที่มีเตียง ๑๒ หลังตั้งเรียงกันอยู่ภายใน

เจ้าฟ้าบอกว่าท่านออกแบบ เครื่องเรือน ตู้เสื้อผ้าและกรงนกที่ผมเห็นแขวนอยู่ในหอนี้มากมายด้วยตัวของท่านเอง

มหาเทวีเดินออกมาจากห้องขนาดใหญ่พร้อมบุตรสาวที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า คิตตี้ ส่วนชื่อภาษาไตนั้น คือ เจ้าคำข่อง ที่แปลว่า “ทองสีชมพู” เจ้าคำข่องเป็นเด็กสาวร่างผอมสูงมีผิวขาวซีด พูดภาษาอังกฤษได้ ท่านสนทนากับเจ้าพ่อและเจ้าด้วยความยำเกรง ฯลฯ

.....สุทธิศักดิ์เรียงความ

ปุ่มแชร์